26 กันยายน 2564
เวทีเสวนา "เมียนมากับกระบวนการพัฒนาแบบย้อนกลับ : แนวโน้มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลังรัฐประหาร”
9.30-11.30
ผู้ร่วมจัด เสมสิกขาลัย และ เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch)
ผู้ร่วมเสวนา
- อู มอ ทุน อ่อง (U Maw Htun Aung), รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงานแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ
- ซอ ตา โป (Saw Tha Poe) องค์กร Karen Environmental and Social Action Network (KESAN)
- ผศ.นฤมล ทับจุมพล สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินการเสวนา
วรวรรณ ศุกระฤกษ์ เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch)
วิดีโอจากเวทีนี้
ที่มาและความสำคัญ
ผ่านมากว่า 7 เดือน นับแต่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บรรดารัฐต่าง ๆ ของประชาคมโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการประณามและแสเงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารและใช้วิธีถอนการลงทุนและระ งับการลงทุนเพื่อกดดันกองทัพเมียนมา
แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติในเมียนมาเริ่มชะลอตัวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เมื่อกองทัพเมียนมา เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ซึ่งได้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเชิงลบในทันทีและสร้างความไม่แน่นอนทั้งในและนอกประเทศ ประชาชนชาวเมียนมาทั่วประเทศออกมาเดินขบวนประท้วงทั่วประเทศ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนอย่างล้นหลาม รวมถึงการรณรงค์อารยะขัดขืน หรือ Civil Disobedience Movement: CDM การต่อต้านการปกครองของทหารมีแนวโน้มที่จะยังคงต่อเนื่องและบานปลาย ทั้งในเมืองและในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ จนขณะนี้การต่อต้านกองทัพเมียนมาแผ่ขยายออกไปในทุกมิติทั้งการเมืองและการทหาร สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งอาจทำให้เกิดความท้าทายในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในเมียนมา
จากรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่ากลุ่มบริษัทวิสาหกิจของกองทัพ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC) และ บริษัท Union of Myanmar Economic Holding Limited (MEHL) เป็นกลุ่มบริษัทที่กองทัพเมียนมาครอบครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของเมียนมาไว้ ที่ผ่านมา กองทัพเป็นสถาบันอิสระปราศจากการควบคุมหรือแม้กระทั่งการตรวจสอบจากรัฐบาลพลเรือน อีกทั้งไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจของเมียนมา มีบรรดานายพลของกองทัพซึ่งเลือกแต่งตั้งกันมาเอง มานั่งดูแลผลประโยชนทางเศรษฐกิจอันมหาศาล โดยทั้งสองวิสาหกิจมีความเกี่ยวพันและโยงใยกับธุรกิจแทบทุกประเภท จนหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้บริการหรือบริโภคได้ยากมาก เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจข่าวสารและสื่อสารมวลชน ธุรกิจการกระจายสินค้าและการขนส่ง ธุรกิจป่าไม้ ธุรกิจพลังงานและไฟฟ้า ธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจอัญมณี ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีบริษัทเกี่ยวข้องมากกว่า 133 แห่ง ทั้งที่เป็นบริษัทภายในประเทศและบริษัทของนักลงทุนต่างชาติ โดยรายงานดังกล่าวสืบทราบได้ว่าวิสาหกิจกองทัพเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวเมียนมา รวมถึงรายได้จากบริษัทเหล่านี้ได้ถูกแปลงเป็นอาวุธในการรบพุ่ง ประหัตประหารกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐต่าง ๆ ด้วย
หากคิดย้อนทบทวนเรื่องราวของเมียนมา นับแต่การเปิดประเทศเมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษนับแต่ปี 2010 - 2020 เมียนมาเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างมาก โดยมีเครื่องมือทางนโยบายและกฎหมายต่าง ๆ มาสนับสนุน เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 20 ปี, กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ, กฎหมายการลงทุนต่างประเทศ และการลงทุนเมียนมา
หลังจากการเปิดประเทศและปฏิรูปทางการเมืองสู่หนทางประชาธิปไตย รวมทั้งเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ สัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศตะวันตก
ดูเหมือนว่าภาคส่วนการลงทุนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับกองทัพและเครือข่ายมากที่สุดจะเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และธุรกิจขุดเจาะทำลายล้างอย่างเหมืองแร่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้พวกเขาได้เข้าคุมอำนาจรัฐและองคาพยพต่างๆ ไว้ทั้งหมด มีรายงานว่าบริษัทในเครือกองทัพล้วนเป็นเจ้าตลาดธุรกิจเหมืองหยก-พลอยในประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกหยกรายใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปยังจีน
รายงานจาก justice for Myanmar ระบุว่า ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีส่วนสำคัญในฐานะรายได้และกระแสเงินสดที่สร้างความมั่งคั่งให้กับกองทัพโดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายภาคส่วนในเมียนมาทั้งประชาชน ภาคประชาสังคม และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รวมตัวกันเรียกร้องให้บริษัทร่วมทุนจากต่างประเทศที่ลงทุนและดำเนินการเกี่ยวธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติระงับการดำเนินโครงการหรืออย่างน้อยที่สุดระงับการจ่ายเงินไปยังรัฐวิสาหกิจของเมียนมาอย่างบริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) เพื่อนำไปสู่การสกัดกั้นไม่ให้กองทัพหรือคณะเผด็จการทหารเมียนมานำรายได้ในส่วนนี้ไปแปลงเป็นเครื่องมือสังหารประชาชน
แต่จากการลงทุนในโครงการพัฒนา ซึ่งหมายรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจขุดเจาะทำลายล้าง ได้ส่งผลอีกด้านหนึ่งนอกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
โครงการเหล่านี้ที่ถูกแปะป้ายด้วยคำว่า "การพัฒนา" เช่น โครงการเขื่อน โครงการขุดเจาะ ดำเนินการ และขนส่ง โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล โครงการเหมืองแร่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมได้ส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพของผู้คนในพื้นที่โครงการและใกล้เคียง หลายโครงการลุกลามไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีความเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจทางการทหารของกองทัพเมียนมา ที่ประชาชนในพื้นที่และรัฐต่าง ๆ เป็นเหยื่อของการพัฒนาและการกระชับพื้นที่ทางการเมืองและการทหาร
โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจทำลายล้างเหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาหลากหลายประการ เช่น การแย่งยึดที่ดินของประชาชนและชุมชนเพื่อนำมาซึ่งพื้นที่ในการให้สัมปทานแก่ผู้พัฒนาโครงการ การถูกบังคับโยกย้ายออกจากพื้นที่ของตน การสูญเสียวิถีชีวิตและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผูกโยงกับพื้นที่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอีกนานัปการ
แต่หากพิจารณาย้อนกลับไปไกลกว่านั้น แม้ว่าหลังการปราบปรามประชาชนในปี 1988 และการล้มผลการเลือกตั้ง 1990 เมียนมาจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ธุรกิจของกองทัพก็ไม่ได้สะดุดมากนัก พวกเขาเปิดรับการลงทุนและการทำธุรกิจร่วมกันกับบางประเทศโดยการจัดตั้งบริษัท holding และ บริษัทรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทเอกชนทั้งจากต่างชาติและภายในประเทศ โดยในช่วงหลังปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิรูปทางการเมืองเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาและธุรกิจขุดเจาะทำลายล้างมีสัดส่วนทั้งจำนวนเม็ดการลงทุนเป็นอันดับแรก ๆ มาโดยตลอด จนอาจกล่าวได้ว่า โครงการพัฒนาและธุรกิจขุดเจาะทำลายล้างที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นปัจจัยค้ำจุนให้กองทัพมีความเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม แม้มีการออกมาตรการยกเลิกการสนับสนุนการให้เงินช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ และประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบกำหนดเป้าหมายจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็อาจทำให้เมียนมาโดยเฉพาะกองทัพหันเข้าหาการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่พวกเขามองว่าเป็นชาติพันธมิตรที่ไม่ได้มีท่าทีประณามการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาอย่างชัดเจนทั้งในเวทีระหว่างประเทศและในนามประเทศอย่างจีน รัสเซีย และไทย ซึ่งดูเหมือนว่ามหามิตรอำนาจนิยมเหล่านี้รอจังหวะความผันผวนและความไม่แน่นอนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณสุข
ในกรณีของจีน จะเห็นได้ว่ารัฐและภาคธุรกิจจีนให้ความสำคัญกับเมียนมาในฐานะหลังบ้านและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างมาก โดยจีนมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่อยู่ตามแนวโครงการความริเริ่มแถบและทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) และระเบียงเศรษฐกิจจีน - เมียนมา (China - Myanmar Economic Corridor) โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวผิว ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของเมียนมา ล่าสุดมีความพยายามกดดันจากจีนให้ทางคณะเผด็จการทหารเมียนมาเร่งเดินหน้าจัดการโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ มากไปกว่านั้นในขณะนี้จีนเองก็เริ่มดำเนินการให้ความช่วยเหลือ
ส่วนในกรณีของไทย หลังการรัฐประหารเมียนมา แทบจะทันทีทันควัน ทางรัฐบาลไทยได้ติดต่อกลับไปยังทางการเมียนมาเพื่อที่จะเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการดำเนินในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่ก่อนหน้านี้ทางบริษัทไทยซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการได้ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานในการดำเนินโครงการทวาย อีกทั้งโครงการความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ (Official Development Assistances: ODA) ทั้งทางการเงินและทางวิชาการผ่านหน่วยงานที่เกี่ยงข้องต่อเมียนมาก็ยังคงมีอยู่
นอกจากนี้ในแง่ของการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนลำน้ำสาละวินในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงก็ดูจะเป็นเป้าของการพัฒนาอีกครั้ง หลังจากพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้เดินทางไปเยือนเมืองพะอันของรัฐกะเหรี่ยง และมีความตั้งใจที่จะสร้างเขื่อนฮัตจี หนึ่งใน 7 โครงการเขื่อนบนลำน้ำสาละวิน ที่มีผู้ลงทุนหลักเป็นบริษัทจีนและมีผู้รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ดูเหมือนว่า แม้ชาติตะวันตกจะประณามการกระทำอันอุกอาจและขาดมนุษยธรรมของกองทัพเมียนมาในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาเรียกร้แงประชาธิปไตยอย่างไร แต่ชาติที่มีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในเมียนมาก่อนหน้านี้ และไม่ได้มีการประณามการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและไทย ก็ยังพยายามเร่งเดินหน้าโครงการที่ติดค้างไว้มากยิ่งขึ้นแม้การรัฐประหารและเหตุการณ์การสู้รบ และการต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยยังมีอยู่ อีกทั้งยังมีวิกฤตอื่น ๆ ที่ซ้อนขึ้นมาอย่างวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และภัยธรรมชาติ สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานและน่าเป็นห่วงเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าวิเคราะห์ว่าเมียนมาในยุคเผด็จการทหารครั้งใหม่ โดยเฉพาะแนวโน้มการพัฒนาและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาจากนี้จะเป็นอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ ทางเสมสิกขาลัย (เมียนมา) และกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) จึงมีความตั้งใจในการจัดเวทีเสวนาออนไลน์เรื่อง "เมียนมากับกระบวนการพัฒนาแบบย้อนกลับ : แนวโน้มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หลังรัฐประหารที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมในเมียนมา" เพื่อให้เวทีเสวนานี้เป็นเครื่องมือและพื้นที่ในการสะท้อนย้อนคิดทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์และพัฒนาการโครงการพัฒนาต่างๆที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อดีตก่อนการปฏิรูปประเทศ จนถึงช่วงการเปิดประเทศในรอบหนึ่งทศวรรษนับแต่ปี 2010 – 2020 และที่สำคัญที่สุดเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์โครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่และธุรกิจขุดเจาะทำลายล้างที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ภายใต้คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย อย่างน้อยที่สุดในช่วง 2 ปีหลังจากนี้
จุดประสงค์
1. เพื่อทบทวนสถานการณ์การละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และธุรกิจขุดเจาะทำลายล้างในอดีต ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 8888 - การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
2. เพื่อทบทวนและวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและโครงการพัฒนา รวมถึงธุรกิจทำลายล้าง ตลอดจนท่าทีและบทบาทองค์กรระหว่างประเทศและนานาประเทศ ตั้งแต่มีการรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน
3. เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และธุรกิจขุดเจาะทำลายล้างหลังจากเกิดการรัฐประหารไปแล้ว
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ผู้เข้าร่วมได้ทราบถึงความเป็นมาและพัฒนาการหรือประวัติศาสตร์โดยย่อทางเศรษฐกิจของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมในเมียนมา
2. ผู้เข้าร่วมได้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมานับแต่มีการรัฐประหาร
3. ผู้เข้าร่วมได้รับรู้ถึงมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับการประเมินคาดการณ์ถึงแนวโน้มในอนาคตในทางเศรษฐกิจผ่านโครงการพัฒนาที่ดำรงอยู่และอาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างน้อยที่สุดในรอบ 2 ปี หลังจากการรัฐประหาร
ข้อมูลอ้างอิง
https://voicetv.co.th/read/vgGZQIAsD
https://brandinside.asia/kasikorn-reserch-analysis-myanmar-economy-gdp-likely-contract-after-coup/
https://thaipublica.org/2021/05/krungsri-research-on-myanmar-fdi-diversion/
เวทีอภิปราย “ค้าขยะ: เมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นที่ทิ้งขยะโลก”
13.00-14.30
ผู้ร่วมจัด The Center to Combat Corruption and Cronyism (C4 Center) Malaysia มูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery – Thailand [EARTH])
ผู้ร่วมอภิปราย
- ดารู เซทโยรินี (Daru Setyorini) องค์กรติดตามนิเวศและการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ (ECOTON) อินโดนีเซีย
- ปัว ไล่ เป็ง (Pua Lay Peng), องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมกัวลาลังกัต (PTASKL) มาเลเซีย
- อัครพล ตีบไธสง มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
ดำเนินการอภิปราย
หว่อง ปุย ยี (Wong Pui Yi) ศูนย์ต่อต้านการทุจริตและการฉ้อโกง (C4 Center) มาเลเซีย
วิดีโอจากเวทีนี้ https://youtu.be/aH_hW3VO3zo
แนวคิด
การค้าขยะทั่วโลกนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศผู้นำเข้า ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมักเป็นกลุ่มชายขอบ พบว่าตนเองอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยของเสียที่นำเข้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วดด้วยขยะเพื่อการสะสม นำกลับมาใช้ใหม่ เผาหรือทิ้ง พวกเขาเผชิญกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารเคมีที่เป็นพิษที่ปล่อยออกมาในระหว่างกระบวนการกู้คืนวัสดุ หรือจากก๊าซเรือนกระจกจากไฟที่มักเกิดขึ้น ในขณะที่พบว่ามีของเสียตกค้างถูกทิ้งอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่จะอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ถูกสุขอนามัย และยั่งยืนมักได้รับภัยคุกคามหรือการข่มขู่ ในปี 2018 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของโลกสำหรับการส่งออกขยะหลังจากการห้ามนำเข้าขยะของจีน ส่งผลให้โรงงานรีไซเคิลที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถานที่ทิ้งขยะที่ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดมลพิษทางบก น้ำ และอากาศที่ส่งผลกระทบต่อหลายชุมชนทั่วทั้งภูมิภาคและนำไปสู่ข้อหาทุจริต ประพฤติมิชอบมากมาย มีการเผยแพร่รายงานหลายฉบับเกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงของการไหลเข้าของขยะในมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยองค์กรเช่นกรีนพีซ
, Global Alliance for Incinerator Alternatives (GAIA) , Center to Combat Corruption and Cronyism (C4 Center), International Pollutants Elimination Network (IPEN), Ecological Observation and Wetlands Conservation (ECOTON)
องค์กรเหล่านี้เรียกร้องให้อาเซียนตอบโต้อย่างเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับการทิ้งขยะในภูมิภาค
วงอภปรายนี้จะเน้นไปที่ประสบการณ์และความคิดริเริ่มของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าของเสีย ด้านล่างนี้คือคำถามบางส่วนสำหรับผู้ร่วมอภิปรายที่จะต้องพิจารณา:
1) การค้าขยะมีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างไร?ชุมชนต่อสู้อย่างไรเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดและป้องกันของเสียที่นำเข้ามา? เราเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง? ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดบ้างที่มีส่วนร่วม
2) ตั้งแต่ปี 2018 และ 2019 ความพยายามในการบังคับใช้ได้เพิ่มขึ้นและการแก้ไข Basel Convention Plastic มีผลบังคับใช้ รัฐบาลได้ดำเนินการอะไรบ้างในแต่ละประเทศ การบังคับใช้และการติดตามผลมีประสิทธิภาพเพียงใด?
3) สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร? ชุมชนต้องเผชิญกับขยะที่แตกต่างกันนอกเหนือจากพลาสติกและกระดาษหรือไม่? ของเสียอื่นใดกำลังเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เศษโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก ทองแดง ส่วนประกอบทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่เป็นอันตราย) ยางรถยนต์)
4) ชุมชนท้องถิ่นเรียกร้องอะไรต่อ: รัฐบาลของพวกเขา อาเซียนและชุมชนอื่น ๆ
เสวนา “โควิด-19 กระทบชุมชนเกษตรและสังคมชาวนาอย่างไร”
15.00-16.30
ผู้ร่วมจัด เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, BioThai, GRAIN, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมเสวนา
-
โสเจียด เฮง (Socheat Heng) สภาประชาชนรากหญ้ากัมพูชา (Cambodian Grassroots People's Assembly)
- นูร์ ฟิตรี
อามีร์ มูฮัมหมัด (Nur Fitri Amir Muhamad) ฟอรั่มความมั่นคงด้านอาหารมาเลเซีย
(Malaysian Food Security and Sovereignty Forum [FKMM])
- ราเซลลา มาลินดา (Rassela Malinda) องค์กร Pusaka Bentala Rakyat อินโดนีเซีย
- อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
ดำเนินการเสวนา
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา องค์กร BioThai
วิดีโอจากเวทีนี้ https://youtu.be/41nYadVwCIs
ที่มา
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันที่ไม่มีประเทศใดคาดการณ์และเตรียมที่จะรับมือได้ มาตรการต่าง ๆ เพื่อชะลอการระบาด ป้องกันไม่ให้ความต้องการทางการแพทย์สูงเกินกว่าที่ระบบสาธารณะสุขจะรองรับได้ที่หลายประเทศใช้ เช่น การล็อกดาวน์ (lockdown) หรือ ปิดเมือง การจำกัดการเคลื่อนที่ของกลุ่มคนและการขนส่ง การลดการสัมผัสใกล้ชิด เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ กระทบโดยตรงต่อบุคคลและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างกะทันหัน และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกิจกรรมอื่น ๆ อย่างเป็นลูกโซ่
ในมิติของระบบการเกษตร สถานการณ์และมาตรการต่างๆ ส่งผลต่อการขนส่ง การท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรม ซึ่งทำให้ผลผลิตการเกษตรไม่สามารถจำหน่ายหรือขนส่งได้ การเก็บข้อมูลและผลงานวิจัยของหลายประเทศยืนยันว่า เกษตรกรที่ผลิตพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน ในมิติของความมั่นคงทางอาหาร ครัวเรือนเกษตรพึ่งตนเองด้านอาหารได้มากกว่าคนเมือง และครัวเรือนเกษตรหันกลับมาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารมากขึ้น รวมทั้งชุมชนที่มีฐานทรัพยากรได้เปรียบจากการมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติมากกว่า
ในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับฐานราก และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำขยายช่องว่างมากขึ้น และเป็นโจทย์สำคัญของทุกภาคส่วนต่อการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศ ทั้งในส่วนของการเยียวยาบรรเทาปัญหาและการพัฒนาไปข้างหน้า
ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นคำถามสำคัญว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้กระทบกับครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร การปรับตัวและการสร้างความยืดหยุ่นของภาคการเกษตรต้องทำอย่างไร แนวทางการช่วยเหลือเยียวยาและการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมควรเป็นอย่างไร รวมถึงนโยบายที่ควรเกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบควรเป็นเช่นไร
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันจากหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อร่วมกันหาคำตอบต่อคำถาม และนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการร่วมกัน