สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน 2021
แนวคิด
สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (MAEW) ปีที่สาม กำลังจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2564 ภายใต้หัวข้อ “ออกแบบอาเซียนใหม่ในโลกวิกฤติ"
หลังจากที่จัดมาแล้วสองปี คือในปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตกับผลกระทบจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในอาเซียน:
เล่าเรื่องประชาชน” และในปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “สิ่งแวดล้อม
ประชาธิปไตย และชีวิตที่โยงใยกันในภูมิภาค” MAEW เป็นเวทีและพื้นที่สาธารณะในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มีเป้าหมายในการนำเสนอกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ลึกซึ้งระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เครือข่ายภาคประชาชนภาคประชาสังคม
คนรุ่นใหม่ และสื่อใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเด็นทั้งที่เกิดขึ้นใหม่และมีอยู่เดิม
ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพวกเขา โดยใช้รูปแบบทั้งการอภิปราย
การจัดแสดงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเข้าใจสถานการณ์โลกที่เกี่ยวข้องถึงภูมิภาคมาถึงระดับประเทศและชุมชน
และวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อวิถีชีวิต
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีความหมายต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในภูมิภาค และในท้ายที่สุด
MAEW มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมสำรวจแนวคิดและความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
เพื่อการปกป้อง ฟื้นฟูเพื่อการดำรงชีวิตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยที่สามารถออกแบบ
และเสริมสร้างความเข้มแข็งร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายได้อย่างสร้างสรรค์และก้าวหน้า
MAEW 2564 จัดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด -19 ผนวกกับปรากฏการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคที่กลายเป็นประเด็นร้อนของโลก โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังการรัฐประหารในเมียนมาร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด -19 กลายเป็นปัจจัยคุกคามโลกในแทบทุกมิติ และเป็นตัวฉุดรั้งภาวะเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ตกต่ำลงอย่างมาก ซ้ำเติมปัญหาทั้งจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรงที่ทวีความรุนแรงจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศภาคพื้นสมุทร ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ แผ่นดินถล่ม มิหนำซ้ำ ความพยายามของประชาชนในการรักษาความสมดุลย์ของสิ่งแวดล้อมเพื่อการปรับตัว ยังถูกขัดขวางจากการเบียดเบียนทรัพยากรที่ชุมชนใช้พึ่งพาอาศัยอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ที่ดินและแม่น้ำ การตัดทำลายป่าฝนเขตร้อนเพื่อเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรขนาดใหญ่ รวมถึงในพื้นที่ซึ่งครอบครองดูแลตามประเพณีอยู่โดยคนพื้นเมือง ชนเผ่าต่าง ๆ และความพยายามย้ายคนออกจากป่า เกิดขึ้นทั้งในประเทศภาคพื้นสมุทรอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกันกับประเทศในแผ่นดินใหญ่อย่างกัมพูชา ไทยและสปป.ลาว กระบวนการการค้าการลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งระดับประเทศภายในอาเซียนและการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ประชาชนยับยั้งหรือตรวจสอบได้ยาก ดังเช่นโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่แม้ว่าจะเกิดขึ้นบนแม่น้ำนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาค แต่กระบวนการตัดสินใจในอนาคตของแม่โขงยังคงถูกผูกขาดโดยรัฐบาลและบริษัทจากไม่กี่ประเทศ
ในช่วงเวลาอีกหลายปีนับจากนี้ กระบวนทัศน์เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสถียรภาพในภูมิภาคมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของโลกหลังจากวิกฤติโควิด - 19 การทบทวนและการออกแบบใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานบางประการจะเป็นความจำเป็นสำหรับโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทบทวนความหมายของชีวิตที่ดีที่ควบคู่ไปกับการมีการคุ้มครองสุขภาพที่ดีจะมาพร้อมกับการออกแบบแนวทางใหม่อื่น ๆ เช่นในด้านพลังงาน ที่ต้องสอดคล้องกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และโลกและภูมิภาคแม่โขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต ข้อตกลงด้านพลังงานที่กำลังเจรจากันอยู่ในตลาดภูมิภาคและระดับโลก ยังคงถูกซ่อนจากพื้นที่สาธารณะและผู้บริโภคส่วนใหญ่ แม้ว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคมานานแล้วก็ตาม วิกฤติการณ์ด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค จึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และสมควรเป็นหัวข้อในการอภิปรายและวิเคราะห์เชิงลึก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาทางเลือกและโอกาสจากเทคโนโลยีและตลาดใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาเป็นคนรุ่นที่ต้องเผชิญกับอนาคตที่มีแรงกดดันมากขึ้นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่ประชาชนทั่วภูมิภาคมีความกังวลต่อสุขภาพและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวและในชุมชนมากขึ้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดยคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคยังต้องเผชิญหน้ากับการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น การยึดอำนาจและการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม ที่เด่นชัดที่สุดคือความรุนแรงที่ทหารพม่าทำต่อประชาชน ที่กำลังท้าทายจุดยืนประชาธิปไตยของภูมิภาค หลักสิทธิมนุษยชนและความไว้วางใจในกลไกอาเซียน ความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในภูมิภาคนี้ยังเป็นภัยคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPP) และการคุกคามในทางกายภาพ ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ส่งผลกระทบต่อการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือและเหตุผลในการควบคุมและข่มขู่ประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนาด้วย ท่ามกลางความซับซ้อนภายในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ทั้งรัฐและกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจทั้งจากในและนอกภูมิภาคยังคงแข่งขันกันเพื่อแสดงพลังของตน อิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์จากภายนอกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาค
MAEW 2021 ขอเชิญเครือข่ายประชาชน กลุ่มภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนจากทั่วภูมิภาค เข้าร่วมทำงานเพื่อค้นหาวิถีชีวิตที่มีความหมาย ยุติธรรมและยั่งยืนร่วมกัน เพื่อทำให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ดีกว่า ภายใต้หัวข้อ "ออกแบบอาเซียนใหม่ในโลกวิกฤติ" MAEW 2564 มุ่งมั่นที่จะนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นพื้นที่ในการอภิปราย ถกเถียง แลกเปลี่ยนและแสดงออกในประเด็นจากสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมการเมืองระดับสากลไปจนถึงพื้นที่ของชุมชนที่เกี่ยวกับชีวิตและการดำรงชีวิตของประชาชนหลังวิกฤติโควิด -19 ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลภาครัฐและทุน พลังงาน นิเวศวัฒนธรรม ภัยพิบัติข้ามพรมแดน แนวโน้มเศรษฐกิจ ความปั่นป่วนด้านดิจิทัล พลังของคนรุ่นใหม่ และการนำอาเซียนเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ดีกว่าเดิม
องค์กรร่วมจัด
Equitable Cambodia
GRAIN
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (Alternative Agriculture Network)
เครือข่ายจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition)
โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South)
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Thai Society of Environmental Journalists)
โปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Project SEVANA South-East Asia)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD)
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)